รู้จักการวางกลยุทธ์เนื้อหาสำหรับเว็บไซต์

การวางกลยุทธ์เนื้อหาที่ใช้กับเว็บไซต์นั้นมีมานมนานพอ ๆ กับการผลิตเว็บไซต์ออกไปสู่โลกออนไลน์ แต่บทบาทของการวางกลยุทธ์เนื้อหาจะเริ่มมามีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เพราะอะไร? … แน่นอนครับจำนวนผู้ใช้งานของอินเตอร์เน็ต และ จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจบนโลกออนไลน์ มีเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ปี ต่อ ปี ทำให้การแข่งขันกันของผู้ประกอบการต่าง ๆ บนโลก online มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราที่จะเกิด และ ดับในวันเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ ก็มีเช่นกัน

คนที่คิดริเริ่มก่อน คิดผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ ออนไลน์ได้ก่อนใครก็จะมีภาษีได้ถือไพ่เหนือกว่า ยิ่งถ้าได้การวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างดี (Infra Structure) ก็ยิ่งมีลุ้นว่าจะอยู่ได้ยืนยาว หรือ ตลอดไป แต่กระนั้นก็ยังคงต้องพึ่งพาเนื้อหา (Content) ที่ดีเพื่อดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายด้วย (End Users) คนที่มาทีหลังก็คงต้องทำการบ้านการอย่างหนักกันหน่อย ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ของตน (Differentiate) กับบริษัทคู่แข่งเราทราบกันแล้วว่าปัจจุบันนี้ เนื้อหา สามารถถูกนำไปเผยแพร่ได้หลายช่องทาง (Channel) และ ในหลาย ๆ สื่อ (Media) ต่อไปนี้คงต้องวางแผนกันรอบคอบหน่อย ปวดหัวมากขึ้นกันหน่อย และ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญฌฉพาะทางมากขึ้นหน่อย คงจะหมดยุคสมัยของมนุษย์เป็ดแล้วอย่างแท้จริง ต้องขอบคุณ Sir Tim Berners Lee ที่สร้าง WWW ให้เราได้ใช้กัน สื่อ ตัวนี้เป็นสื่อที่แพร่กระจายตัวได้รวดเร็ว และ เข้าถึงมนุษยชาติได้ทุกท้องที่ทุกเพศทุกวัย หลาย ๆ บริษัท หรือ นักธุรกิจคงเห็นแล้วว่ามันเป็นของที่ลงทุนถูกแสนถูกแต่กำไรที่จะได้กลับมานั้นมหาศาล ถ้าทำการบ้านมาดี

ว่าด้วยเรื่องการตลาดพื้นฐานทั่วไปเรารู้กันอยู่แล้วว่าคนที่มาก่อนทำก่อน และ คนอื่น ๆ รู้จักก่อนย่อมมีสิทธิ์รวยก่อนเสมอ (ให้ครบทั้งหมดที่กล่าวมานะ) แต่ในยุคที่ สื่อ ต่าง ๆ ใกล้ตัว ผู้ใช้งาน มาก ๆ ในปัจจุบันนี้คงหลีกเลี่ยงการวางแผน การจัดกรกลยุทธ์ที่ดี ๆ และ มั่นคงยาวนานไม่ได้ แน่นอนผมว่ามันไม่ใช่ แผน 5 ปี มันควรจะเป็น แผน 15 ปี ทำไม? เพราะเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาใหม่ทุก ๆ วัน และ บางอย่างเราสามารถคาดการณ์ คาดคะเน แบบแทบจะฟันธงได้เหมือนหมอลักษณ์ได้เลยว่า อีกกี่เดือนกี่ปี เทคโนโลยีอะไรจะออกมาให้เราได้ใช้งานได้สัมผัส มันไม่ได้มีแต่ฝรั่งที่จะรู้อย่างเดียวแล้วทำก่อน แล้วเราก็ค่อย ๆ คัดลอก มาทำกำไรสัก 2 – 5 ปีแล้วเลิกปิดไปเสีย แล้ว คัดลอก ใหม่ อย่าลืมนะครับว่า ณ เวลานี้สื่อมันใกล้ตัวผู้ใช้งานมากมาก เหมือนวันนี้ผมไปเดิน Tesco Lotus สาขา มุกดาหาร ผมได้ยินเพลงของ ศิลปินหญิงไทยท่านหนึ่งที่เปิดอยู่ในเสียงตามสาย ฟังแล้วนึกถึงเพลง Limon Y Sal ของศิลปินหญิงชาวแม็กซิกัน Julieta Venegas ทันที เลยเข้าใจแล้วว่าเออมันไม่ คัดลอก เฉพาะเพลง ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ อเมริกา ละเว้ย มันเริ่มขยายอาณาเขตการ คัดลอก ออกไปเรื่อย ๆ แบบนี้เรียกว่า รู้ก่อน เอามาคัดลอกขายก่อน แต่พอประชาชน คนฟังรู้ ก็บอกว่ามันเป็น อิทธิพล และ แนวทาง (เลยทำให้เด็ก ๆ สับสนไปแล้วว่า มันเป็นแบบนี้นี่เอง มันคือ อิทธิพล แนวทาง) นี่เป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อาจจะอายุสั้นไปหน่อยถ้าคนฟังรู้เท่าทัน ในแวดวงเราคุณก็ได้เห็น facebook และ Twitter รุมกระทืบ hi5 ตายคาตีนกันมาแล้วใช่ไหมครับ ผมขอยกตัวอย่างสั้น ๆ แบบไม่ทั้งหมด พอสังเขปว่า เมื่อก่อน hi5 ระบาดได้รวดเร็วเพราะอะไร? เพราะ feature ที่สามารถทำให้ผู้ใช้งาน นั้นรู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ได้ปรับแต่งหน้าตาของตัวเองได้ เอาเนื้อหาจากสื่ออื่น ๆ เข้ามาวางไว้หน้าของตัวเองได้ แต่ดูเหมือนนั่นเป็นการสร้างความเครียดสะสมให้ผู้ใช้งานอื่น ๆ คุณว่าไหม? พอนาน ๆ เข้าก็จากสวยมันจะกลายเป็นรกแทนอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ครับ มองไปที่ Facebook เริ่มแรก ๆ นั้น ตัวรูปร่างหน้าตา (User Interface) ของ Facebook นั้นจะเรียนรู้ยากหน่อยครับแต่เมื่อ update มีการปรับเปลี่ยน และ เพิ่มตัวเสริมต่าง ๆ เข้ามาให้ได้ใช้กันเยอะ ๆ อีกทั้งมีเมนูอธิบายการทำงานเป็นภาษาไทย ทำให้พ่อ แม่ พี่น้องเข้าใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการควบคุมในเรื่องของ spam และ flood ต่าง ๆ ดีทำให้ความเรียบง่ายของ Facebook เป็นความไม่น่าเบื่อ และ ใช้ได้ยาวนาน ส่วนเจ้า Twitter เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใหญ่ไว้ใช้บ่น ๆ เด็ก ๆ คงจะงง งงว่ามันเอาไว้ทำอะไร แต่ User Interface ของ Twitter นั้นเข้าใจง่าย และ น่าใช้กว่า และ การวางแผน การจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง Interface กับผู้ใช้งานดี และ เป็นมิตรมากเลยทีเดียว

ความสำเร็จอาจเกิดขึ้นจากการวางแผน และ ทำการบ้านวิเคราะห์เนื้อหามาอย่างหนัก เกี่ยวกับเนื้อหาของสิ่งที่คุณจะนำเสนอออกไปสู่ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือ อาจจะได้ความสำเร็จมาแบบฟลุค ๆ ก็ได้ แต่สุดท้ายเมื่อธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ของคุณนั้นเริ่มติดตลาดแล้ว คุณก็ต้องคิด และ เริ่มที่จะต้องวางแผนให้ดีรอบคอบเพื่อการอยู่รอดต่อไปให้ได้อยู่ดี การวางกลยุทธ์เนื้อหาสำหรับเว็บไซท์ โดยมากจะอยู่ต่อจากการเขียน Infra Strucutre ให้กับตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และ อาจจะมีร่วมกับการทำ Business Plan ร่วมกับฝ่ายการตลาด เพื่อการควบคุม การจัดแจง การหมุนเวียน เข้า/ออก ของเนื้อหาของเว็บไซต์ให้เป็นระบบ โดยส่วนใหญ่จะคำนึงถึง

  1. ลำดับของโครงสร้างเนื้อหา

    อนึ่ง ในที่นี้ไม่ใช่การเขียน HTML หรือ XHTML นะครับ แต่เป็นการวางโครงสร้างของเนื้อในภาพรวมก่อนการผลิต เช่น เว็บพอร์ทัล (Portal Site) หนึ่งจะเริ่มต้นด้วยเนื้อหาใด ไปสู่เนื้อหาใด และ จบลงด้วยเนื้อหาใด นำเอา Infra Structure ออกมาตีแผ่คลี่ออกมาวิเคราะห์ลำดับให้เป็นระบบระเบียบ

    ตรงนี้ เมื่อมีการพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วอาจจะต้องเกิดการ ปรับปรุง Infra Structure กันใหม่

  2. อายุขัยของเนื้อหา

    การกำหนดอายุขัยของเนื้อหานั้นสำคัญเพราะจะส่งผลต่อการวางแผนระบบงานในส่วนงานอื่น ๆ เช่น การออกแบบฐานข้อมูลของโปรแกรมเมอร์ การวางโครงสร้างการเข้าถึงได้ของข้อมูลของ ผู้วิเคราะห์การเข้าถึงได้ของข้อมูล ยกตัวอย่าง สมมตินะครับว่า บทความ case study ของ ThaiCSS ที่มีภาพประกอบ และ ตัวอย่างทั้งหมด จะมีอายุ 2 สัปดาห์หลังจากวันที่ update ขึ้นไปบน ThaiCSS หลังจากนั้นจะถูกย้ายไปเก็บไว้ในส่วน Archive ซึ่งอาจจะเป็นส่วนที่เก็บบทความสำคัญเอาไว้ดูย้อนหลังได้ แต่คนที่เข้าไปอ่านอาจจะต้องจ่ายเงิน หรือ เอามาเรียบเรียงตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอีกครั้งหนึ่งสิ้นปีเป็น ThaiCSS Year Book

    เพราะฉะนั้นโปรแกรมเมอร์จะต้องออกแบบฐานข้อมูลอย่างไร จะต้องเตรียมระบบการจัดการเนื้อหาอย่างไร ผู้วิเคราะห์การเข้าถึงได้ของข้อมูลจะวางโครงสร้าง RDF (Resource Definition Framework) อย่างไร จะวาง Schema ของ XML อย่างไร โครงสร้าง URI เป็นอย่างไร ก่อนและหลังหมดอายุขัย เพื่อการเข้าถึงได้ และ คงความเป็นประโยชน์สูงสุดของเนื้อหาให้ดีที่สุด ผู้ออกแบบ User Interface ก็จะได้เตรียมพร้อมการออกแบบ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์ และ ตรงตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานอีกด้วย

  3. หมวดหมู่ของเนื้อหา ความสัมพันธ์ และ ความไม่สัมพันธ์ ของเนื้อหา

    คือ การจัดหมวดหมู่ของเนื้อหานั่นเองครับ การจัดหมวดหมู่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน (End User) และ ผู้ใช้งานระบบ (Super User) บางกลุ่ม อาทิ Copywriter, Content Editors, พนักงานขาย และ พนักงานการตลาด

    • เนื้อหาที่สัมพันธ์กันช่วยดีงให้ผู้ใช้งาน วนเวียนไปตามเนื้อหาที่ตนเองสนใจ และ อยากเข้ามาอ่าน (เสพย์) ได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดความเบื่อหน่าย ทั้งนี้ User Interface ก็ต้องช่วยด้วยนะครับ
    • เนื้อหาที่ไม่สัมพันธ์กันช่วยเรียกความสนใจของผู้ใช้งาน ให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในขณะที่กำลังเบื่อเนื้อหา หรือ กิจกรรม ที่ตนเองกำลังดำเนินอยู่ เหล่านี้ช่วยให้ Copywriter, Content Editors, พนักงานขาย และ พนักงานการตลาด วางแผนโฆษณา และ ขายผลิตภัณฑ์ได้
  4. กำหนดกรอบของการเขียนเนื้อหาให้กับ Copywriter และ Content Editors

    ตรงนี้จะมีการ research เข้ามาเกี่ยวข้องครับทั้งจากสถิติเดิมของเว็บ หรือ สถิติจากผู้ใช้งานที่เราต้องการจะขายผลิตภัณฑ์ของเราไปให้พวกเขา ว่าพวกเขามีการใช้งาน บริโภคข้อมูล เหล่านี้อย่างไร? เขามีความคิดเห็นกับสิ่งที่เราต้องการนำเสนออย่างไร? อยากได้ หรือ ลดอะไรออกไปบ้างหรือไม่? เมื่อได้มาคุณก็จะรู้ว่าต้องเตรียมการอย่างไรในส่วนของงานเขียน งานการคิดเนื้อหาให้โดนใจผู้ใช้งาน และ โดนใจ Search Engine Crawler จะเห็นว่าหน้าที่ของ Copywriter และ Content Editors บนโลกออนไลน์จะยุ่งยากเพิ่มขึ้นอีกนิดนึงนะครับ

ในอนาคตอาจจะมีอะไรงอกเงยกันออกมาเรื่อย ๆ มากกว่าที่ผมเขียนออกมานี้ หรือ ผมเขียนขาดตกอะไรไปก็ร่วมแบ่งปันกัน ณ ​ที่นี้ได้ครับ พอจะเห็นกันราง ๆ แล้วนะครับว่าศาสตร์ต่าง ๆ เริ่มเข้ามาผสมผสานอยู่บนเทคโนโลยีเว็บ ทั้ง ๆ ที่เราหลาย ๆ คนอาจจะเคยคิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันได้เลย แต่สุดท้ายมันก็เกี่ยว อาชีพเก่า ๆ มันไม่ได้จากหายไปไหนหรอกครับ เพียงแต่เรารู้เท่าทัน ตั้งรับเทคโนโลยีได้มากน้อยขนาดไหน ตอนนี้คนที่รู้ก่อน และ สามารถทำได้ก่อน ก็น่าจะกุมอำนาจ และ โอกาสทางธุรกิจเอาไว้ แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงกลยุทธ์เนื้อหาสำหรับเว็บไซต์ของคุณด้วยนะครับ

สวัสดีปีใหม่ 2553 ขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างมีสตินะครับ

Back to Top

2 Responses to รู้จักการวางกลยุทธ์เนื้อหาสำหรับเว็บไซต์

Leave a Reply to joeyjoy Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to Top